7/29/2552

โมเดลสมรรถนะของกรมบัญชีกลาง


การบริหารทรัพยากรบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มีแนวทางในการนำสมรรถนะมาใช้เป็นเงื่อนไขในการบริหารงานบุคคล เช่น การสรรหา บรรจุ แต่งตั้ง การประเมินผลงานเพื่อเลื่อนเงินเดือนหรือเลื่อนตำแหน่ง การกำหนดเส้นทางความก้าวหน้า เป็นต้น ซึ่งสำนักงาน ก.พ. ได้จัดทำต้นแบบสมรรถนะของระบบราชการไทย (Competency Model) จำนวน 21 ตัว โดยกำหนดให้สมรรถนะจำนวน 5 ตัว เป็นสมรรถนะหลัก (Core Competency) ที่ข้าราชการพลเรือนทุกตำแหน่งจะต้องมี และให้ทุกส่วนราชการกำหนดสมรรถนะประจำสายงาน/กลุ่มตำแหน่ง (Core Functional Competency) อีกจำนวน 3 – 5 ตัว ตามความเหมาะสม ในการกำหนดสมรรถนะ ประจำสายงานของกรมบัญชีกลาง กรมได้แต่งตั้งคณะทำงานกำหนดคุณลักษณะและทักษะของบุคลากรกรมบัญชีกลางเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าว และในวันที่ 3 มีนาคม 2552 อธิบดีกรมบัญชีกลาง (นายปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์) ได้ให้ความเห็นชอบสมรรถนะประจำสายงานกรมบัญชีกลาง จำนวน 21 สายงาน การพัฒนาข้าราชการกรมบัญชีกลางที่มุ่งเน้นสมรรถนะจึงเป็นการเตรียมความพร้อมของข้าราชการให้มีความรู้ ความสามารถ ทักษะ และสมรรถนะที่จำเป็น เพื่อให้ข้าราชการสามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง รองรับการประเมินผลการปฏิบัติงานรายบุคคลที่จะมีขึ้นในอนาคต

ในการดำเนินการ .. กรมบัญชีกลาง ได้แต่งตั้งคณะทำงานกำหนดคุณลักษณะและทักษะบุคลากรของ กรมบัญชีกลาง เพื่อศึกษาวิเคราะห์ และพิจารณากำหนดคุณลักษณะและทักษะบุคลากรของกรมฯ ให้สอดคล้องกับตำแหน่ง หน้าที่ความรับผิดชอบ ตามภารกิจของหน่วยงาน และยุทธศาสตร์ ซึ่งกรมฯ ได้กำหนดต้นแบบสมรรถนะตามแนวทางของต้นแบบสมรรถนะของระบบราชการไทยขึ้น ประกอบด้วย

สมรรถนะหลักของข้าราชการกรมบัญชีกลางทุกคน (Core Competency) ประกอบด้วยสมรรถนะ จำนวน 5 ตัว คือ
1. การมุ่งผลสัมฤทธิ์ (Achievement Motivation - ACH)
2. การบริการที่ดี (Service Mind - SERV)
3. การสั่งสมความเชี่ยวชาญในงานอาชีพ (Expertise - EXP)
4. จริยธรรม (Integrity - ING)
5. ความร่วมแรงร่วมใจ (Teamwork - TW)
สมรรถนะประจำกลุ่มตำแหน่ง / งาน (Core Function Competency) ประกอบด้วยสมรรถนะ จำนวน 12 ตัว โดยแต่ละกลุ่มตำแหน่ง จะต้องมีสมรรถนะกลุ่มตำแหน่งละ 3 ตัว (รายละเอียดปรากฏตามตารางต้นแบบสมรรถนะของกรมบัญชีกลาง ที่จะกล่าวในลำดับต่อไป) คือ
1. การคิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking - AT)
2. การมองภาพองค์รวม (Conceptual Thinking - CT)
3. การพัฒนาศักยภาพคน (Caring & Developing Others - DEV)
4. การสั่งการตามอำนาจหน้าที่ (Holding People Accountable - HPA)
5. การสืบเสาะหาข้อมูล (Information Seeking - INF)
6. ความเข้าใจผู้อื่น (Interpersonal Understanding - IU)
7. การดำเนินการเชิงรุก (Proactiveness - PROAC)
8. ความถูกต้องของงาน (Concern for Order - CO)
9. ความยืดหยุ่นผ่อนปรน (Flexibility - FLX)
10. ศิลปะการสื่อสารจูงใจ (Communication & Influencing - CI)
11. สุนทรียภาพทางศิลปะ (Aesthetic Quality - AQ)
12. การควบคุมตนเอง (Self Control - SCT

และระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา กรมบัญชีกลาง ได้จัดให้มีการประเมินสมรรถนะของตนเอง (Self Assessment) สำหรับข้าราชการกรมบัญชีกลางทุกคน โดยนำ Competency Model ที่กรมกำหนด มาเป็นกรอบการประเมินสมรรถนะ ทั้งนี้ การประเมินสมรรถนะในครั้งนี้ เป็นการประเมินสมรรถนะเพื่อการพัฒนาเท่านั้น ผลที่ได้จากการประเมินจะนำมาสู่การออกแบบ พัฒนาหลักสูตร ตลอดจนกำหนดแนวทางการพัฒนาสมรรถนะของข้าราชการต่อไป