7/05/2556

สุขภาพกับโรคตาในวัยทำงาน


สุขภาพกับโรคตาในวัยทำงาน
ในคนวัยทำงาน ดวงตาถือเป็นเรื่องสำคัญในการทำงาน ซึ่งในหนึ่งวัน คนในวัยทำงานจะต้องใช้สายตามากกว่าช่วงเวลาอื่นๆ ดังนั้นการถนอมดวงตาให้ปลอดภัยจากโรคต่างๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่คนในวัยทำงานต้องทำมากที่สุด
โรคตาที่พบได้บ่อยในวัยทำงานที่ควรรู้จัก ได้แก่ สายตาผิดปกติ ปัญหาจากการใช้คอมพิวเตอร์ ต้อลมและต้อเนื้อ อุบัติเหตุกับดวงตา
สายตาผิดปกติสายตาผิดปกติ คือภาวะที่ทำให้ตามัว มีลักษณะคล้ายการถ่ายภาพไม่ชัดหรือภาพไม่โฟกัส อาจเป็นสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง  การแก้ไขการเห็นภาพไม่ชัดจากภาวะสายตาผิดปกติมีดังนี้คือ
การใช้แว่นตา เป็นวิธีที่สะดวก ปลอดภัย โดยทั่วไปอย่างน้อยในการวัดแว่นสายตาครั้งแรก ควรได้พบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยว่าไม่มีโรคทางตาอื่นที่รุนแรงแว่นตาควรได้รับการเปลี่ยนเมื่อการมองเห็นภาพด้วยแว่นนั้นเริ่มไม่ชัด หรือทำให้ผู้ใช้แว่นตารู้สึกปวดตาหรือปวดศีรษะ
การใช้คอนแทกเลนส์ เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมสำหรับผู้มีปัญหาในการใช้แว่นตา คอน แทกเลนส์มีทั้งชนิดใช้ชั่วคราวแล้วทิ้ง และชนิดถาวรใช้ได้ ๑-๒ ปี โดยทั่วไปคอนแทกเลนส์ทุกชนิดให้ใส่เฉพาะเวลาที่จำเป็น ห้ามใส่นอน และควรดูแลความสะอาดอย่างถูกต้อง เพราะการใช้คอนแทกเลนส์ผิด วิธีมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่กระจกตา ซึ่งอาจทำให้ตาบอดได้
การใช้เลเซอร์แก้ไขสายตา เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย  โดยทั่วไปมักทำในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ ๑๘ ปีขึ้นไป ที่ระดับสายตาผิดปกติเริ่มไม่เปลี่ยนแปลง และต้องไม่มีโรคประจำตัวชนิดที่เป็นข้อห้าม
ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาสายตาผิดปกติที่สนใจจะทำเลเซอร์แก้ไขสายตา ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อตรวจสภาพตาก่อนรับคำแนะนำเพื่อการตัดสินใจต่อไป
ปัญหาจากการใช้คอมพิวเตอร์
ปัจจุบันคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทกับคนวัยทำงานเป็นอย่างมาก บางคนอาจจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์นานถึง ๘-๑๐ ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาปวดตาจากการเพ่งสายตา เคืองตาจากภาวะตาแห้ง และตามัว
จากการเพ่งค้างของเลนส์ตา ซึ่งมีข้อแนะนำสำหรับการใช้คอมพิวเตอร์ดังนี้
เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาปวดตาจากการเพ่งหรือตามัวจากการเพ่งสายตาค้าง ควรมีการหยุดพักสายตาทุก ๓๐ นาทีของการใช้คอมพิวเตอร์ โดยการมองไปบริเวณกว้างๆ เช่นนอกหน้าต่างอย่างน้อย ๓-๕ นาทีก่อนกลับมาทำงานกับคอมพิวเตอร์ใหม่ จะช่วยลดอาการปวดตาและตาพร่าได้
เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเคืองตาจากตาแห้ง แนะนำให้หลีกเลี่ยงการนั่งใช้คอมพิวเตอร์บริเวณที่มีลมพัด ทั้งจากพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ และแนะนำให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์กะพริบตาบ่อยๆ เมื่อรู้สึกเคืองตา หากอาการรุนแรงอาจจำเป็นต้องใช้น้ำตาเทียมจะทำให้อาการเคืองตาดีขึ้นได้
โรคต้อลมและต้อเนื้อเกิดจากเยื่อบุตาขาวสัมผัสสิ่งระคายเคือง เช่น ลม ฝุ่นหรือแสงแดดจ้าๆ เป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดการหนาตัวและอักเสบของเยื่อบุตาขาว ซึ่งหากมีการหนาตัวเฉพาะบริเวณตาขาว จะเรียกว่าโรคต้อลม ต่อมาหากอาการของโรครุนแรงมากขึ้น อาจลุกลามเข้าบริเวณตาดำจะเรียกว่าโรคต้อเนื้อ ซึ่งอาการของโรคต้อลมและโรคต้อเนื้อ คือ จะทำให้รู้สึกเคืองตา แสบตา ตาแดงบริเวณต้อเมื่อสัมผัสกับฝุ่น ลม หรือแสงแดดจ้าๆ ซึ่ง นอกจากจะทำให้เกิดการอักเสบของต้อแล้ว ยังทำให้ต้อลมและต้อเนื้อลุกลามมากขึ้น
ดังนั้น ผู้ป่วยโรคต้อลมและต้อเนื้อ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่น ลม และแสงจ้า  นอกจากนั้นต้องไม่ซื้อยาหยอดตาจากร้านขายยามาหยอดตาเอง เพราะยาบางชนิดอาจมีส่วนผสมของสตีรอยด์ซึ่งอาจทำให้ตาบอดจาก
โรคต้อหินแทรกซ้อนได้
อุบัติเหตุกับดวงตา
ดวงตาเป็นอวัยวะที่ต้องได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี เพราะอุบัติเหตุอาจทำให้ต้องสูญเสียดวงตาไปตลอดชีวิต วิธีการป้องกันอุบัติเหตุต่อดวงตาที่พบได้บ่อยในวัยทำงานได้แก่
สิ่งแปลกปลอมปลิวหรือกระเด็นเข้าตา กรณีเป็นฝุ่นปลิวเข้าตา ห้ามใช้มือขยี้ตา เพราะจะทำให้ฝุ่นฝังแน่นในกระจกตา
ดังนั้น เมื่อมีฝุ่นปลิวเข้าตา ให้หลับตากะพริบตา น้ำตาจะล้างฝุ่นออกจากตาได้ หรืออาจใช้การลืมตาในน้ำสะอาดก็มักทำให้ฝุ่นออกจากตาได้
สำหรับกรณีสิ่งแปลกปลอมที่รุนแรงเข้าตา เช่น การตอกเศษตะปูกระเด็นเข้าตา หรือการถูกสารเคมีกระเด็นเข้าตา โดยทั่วไปในการทำงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุต่อดวงตา ควรใส่อุปกรณ์ป้องกันตาม
มาตรฐาน แต่หากเกิดอุบัติเหตุต่อดวงตาแล้วควรรีบไปพบจักษุแพทย์ทันที
อุบัติเหตุจากกระจกรถยนต์ เป็นสาเหตุอุบัติเหตุต่อดวงตาที่พบได้บ่อย เมื่อเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์หากผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัดนิรภัย จะมีโอกาสสูงที่ใบหน้าหรือดวงตาจะพุ่งไปกระทบกับกระจกหน้ารถทำให้กระจกรถบาดดวงตาทำให้ตาบอดได้
ดังนั้น ทุกครั้งที่ขับขี่หรือนั่งโดยสารรถยนต์ ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยเสมอ เพื่อป้องกันการถูกเศษกระจกรถบาดดวงตา ทำให้ตาบอดได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาด www.teenee.com

ข้อแตกต่าง ระหว่าง ผู้ชนะ กับ ผู้แพ้

1) ผู้ชนะ : เมื่อพบว่ามีข้อผิดพลาด จะพูดว่า ฉันทำผิดเอง
ผู้แพ้ : เมื่อพบข้อผิดพลาด จะพูดว่า ไม่ใช่ความผิดของฉัน

2) ผู้ชนะ : จะทำงานหนักกว่าปกติ และมีเวลามากกว่าผู้แพ้ 
ผู้แพ้ : จะทำงานแบบยุ่งทั้งวัน โดยที่ไม่คิดว่า งานไหนควรทำก่อน ทำหลัง 

3) ผู้ชนะ : จะเผชิญหน้ากับปัญหาและลงมือแก้ไขปัญหานั้น 
ผู้แพ้ : จะทำในทางตรงข้าม คือหลีกเลี่ยงปัญหา 

4) ผู้ชนะ : จะลงมือทำงานให้ปรากฏผลงานขึ้น 
ผู้แพ้ : จะให้แต่คำสัญญา คือมีแต่ลมปาก แต่ไม่ลงมือ 

5) ผู้ชนะ : จะพูดว่า ฉันทำได้ดี แต่ยังไม่ดีเท่ากับที่ฉันต้องการ  
ผู้แพ้ : จะพูดว่า ยังมีคนอื่นอีกหลายคนที่มีผลงานแย่กว่าตัวเขา  

6) ผู้ชนะ : จะตั้งใจฟัง แล้วทำความเข้าใจ และ สามารถตอบสนองได้ 
ผู้แพ้ : จะรออย่างเดียว โดยไม่ฟัง ไม่ทำความเข้าใจสิ่งที่คนอื่นพูด รอจนกว่าจะถึงคิวที่จะได้พูดเรื่องของตัวเอง

7) ผู้ชนะ : จะยอมรับ นับถือคนที่มีความสามารถเหนือกว่า และจะเรียนรู้จากคนเหล่านั้น
ผู้แพ้ : จะทำในทางตรงข้ามและจะพยายาม หาข้อผิดพลาดของคนที่เหนือกว่าเขา 

8) ผู้ชนะ : จะมีความรับผิดชอบ ไม่เพียงแต่งานที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น จะช่วยคิดให้องค์กรประสบความสำเร็จ( ไม่ใช่ไปก้าวก่าย งานคนอื่นนะ ) 
ผู้แพ้ : จะไม่กล้าที่จะช่วยเหลือคนอื่น และ มักจะพูดว่า ฉันไม่ว่าง กำลังทำงานของฉันอยู่

9) ผู้ชนะ : ต้องมีวิธีที่จะทำให้ดีขึ้นได้เสมอ 
ผู้แพ้ : จะพูดว่า นี่คือหนทางเดียวที่ทำได้  

10) ผู้ชนะ : จะแบ่งปันบทความนี้ไปยังเพื่อนๆของเขา 
ผู้แพ้ : จะเก็บบทความนี้เอาไว้ เพราะว่าเขาไม่มีเวลาที่จะแบ่งปันไปให้คนอื่น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก  www.teenee.com

6/20/2556

การบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ

ในยุคที่เร่งรีบแบบนี้ การบริหารจัดการเวลาถือเป็นสิ่งที่คนเราทุกคนควรทำ เพราะกิจวัตรประจำวัน ของแต่ละคนมีไม่เหมือนกันทั้งที่ทำงาน บ้าน หรือโรงเรียน บางครั้งอาจทำให้เวลาพันกันยุ่งเหยิง ไปหมด เกิดความกังวล และความเครียดขึ้นได้ เนื่องจากไม่รู้จะจัดลำดับอะไรก่อนหลังดี

วันนี้ทีมงาน Life & Family มีเทคนิคการบริหารจัดการเวลาอย่างมีประสิทธิภาพจากนักกิจกรรมบำบัดมาฝากกัน

สำหรับใครที่มีงานมะรุมมะตุ้มจนไม่รู้จะแบ่งเวลาพักผ่อนอย่างไรดี สันติ จันทวรรณ นักกิจกรรมบำบัด โรงพยาบาลมนารมย์ ให้แนวทางว่า อาจเริ่มจากการมองเรื่องการใช้เวลาในแต่ละวันก่อนซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ใน 1 วันทุกคนมีเวลาเท่ากัน 24 ชั่วโมง แล้วใน 24 ชั่วโมง ควรทำอะไรบ้าง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วในวัยเรียนหรือวัยทำงาน การจัดเวลาที่ทำให้เข้าใจง่ายนั้น จะแบ่งจำนวน 24 ชั่วโมงของวันเป็น 3 ส่วน และได้สูตรคือ 8 : 8 : 8 ซึ่งจะมีลักษณะดังนี้

8 ชั่วโมง สำหรับ การนอนหลับ พักผ่อน

8 ชั่วโมง สำหรับ การทำงาน หรือการเรียน

8 ชั่วโมง สำหรับกิจวัตรประจำวันต่างๆ เช่น อาบน้ำ แต่งตัว รับประทานอาหาร เดินทาง เข้าสังคม ตลอดจนกิจกรรมยามว่าง

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเวลาใน 1 วัน มีโครงสร้างการดำเนินชีวิตที่ค่อนข้างชัดเจนในแต่ละวัน หากจัดเวลาให้เหมาะสมตามรูปแบบข้างต้น ซึ่งในบางกรณีสามารถปรับเปลี่ยนลักษณะชั่วโมงต่างๆ ตามสูตรแล้วแต่ลักษณะหน้าที่การงาน การดำเนินชีวิต และสภาพสังคม

นอกจากแบ่งเวลาการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว นักกิจกรรมบำบัด บอกต่อว่า การจัดลำดับของสิ่งที่ทำนั้นก็ช่วยทำให้คุณใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพได้ อย่างน้อย ๆ จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าควรเริ่มทำสิ่งใดก่อนหลังดี ซึ่งมีอยู่ 4 กลุ่มได่แก่
1. สำคัญและเร่งด่วน 2. สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน 3.ไม่สำคัญแต่เร่งด่วน 4. ไม่สำคัญ และไม่เร่งด่วน โดยแต่ละกลุ่มนั้น อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ดังรายละเอียดต่อไป

สิ่งสำคัญและเร่งด่วน

เป็นสิ่งที่จำเป็น และต้องทำทันที เช่น ป่วยไม่สบายทนไม่ไหวต้องไปหาหมอ ต้องไปจ่ายค่าไฟฟ้า เนื่องจากเป็นวันสุดท้ายที่ครบกำหนดจ่าย น้ำมันรถหมดต้องเติมปั้มที่ใกล้ที่สุดทันที สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถผ่อนผันเวลาได้ ต้องทำทันทีและถูกบังคับจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ถ้าไม่ทำแล้วจะก่อปัญหา และถ้าหากมีสิ่งนี้มากเกินไปจะทำให้ชีวิตค่อนข้างวุ่นวายกดดัน ยุ่งเหยิงตลอดเวลา ซึ่งอาจเกิดได้จากสถานการณ์บังคับ ผัดวันประกันพรุ่งหรือไม่ค่อยใส่ใจ
สิ่งสำคัญแต่ไม่เร่งด่วน

เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และสามารถวางแผนไว้ล่วงหน้าได้ เช่น มีนัดไปอบรมสัมนา 3 วัน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า หรือมีนัดทำสัญญาการจัดจ้างอีก 2 สัปดาห์ หรือมีนัดพักผ่อนกับครอบครัวช่วงปลายปี สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่อยากทำและสามารถวางแผนจัดการเวลาไว้ล่วงหน้าได้ ซึ่งมักส่งผลให้มีการใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพและชีวิตมีเป้าหมายในการใช้เวลาในแต่ละวัน

สิ่งไม่สำคัญแต่เร่งด่วน

เป็นสิ่งที่ทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ ซึ่งต้องเผชิญและต้องตัดสินใจในขณะนั้นทันที เช่น มีคนโทรศัพท์มาชวนทำบัตรเครดิต มีคนขอความช่วยเหลือถามทาง เพื่อนชวนไปกินข้าวด้วยตอนนี้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มาขัดจังหวะการใช้เวลาและขึ้นอยู่กับการตัดสินใจในขณะนั้น ซึ่งส่งผลทำให้การใช้เวลามีประสิทธิภาพลดลง

สิ่งไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน

เป็นสิ่งที่ทำไปตามอารมณ์หรือความรู้สึก ซึ่งทำให้เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ เช่น เล่นเกมฆ่าเวลา นอนจนเกินความต้องการ ดูโทรทัศน์ไปเรื่อย ๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความเพลิดเพลินแต่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร ควรลดให้เหลือน้อยที่สุด

โดยทั้งนี้ นักกิจกรรมบำบัดแนะว่า ควรลองนำสิ่งต่าง ๆ ที่จัดตาม 4 กลุ่มข้างต้นมาจัดเรียงลำดับกัน โดยเรียงจากสิ่งที่ต้องทำในกลุ่มสิ่งสำคัญและเร่งด่วนเป็นอันดับแรก สิ่งสำคัญแต่ไม่เร่งด่วนเป็นอันดับสอง สิ่งไม่สำคัญแต่เร่งด่วนเป็นอันดับสาม และสิ่งไม่สำคัญ ไม่เร่งด่วนเป็นอันสุดท้าย นั่นจะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นในการที่จะเริ่มทำอะไรก่อนหลังอย่างไม่ยุ่งเหยิง

ลองนำไปปรับใช้กันดูนะครับ หากผู้อ่านท่านใดมีเทคนิคการบริหารจัดการเวลาที่ทำแล้วได้ผล เข้ามาบอกกันได้นะครับ บางทีวิธีของท่านอาจจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านท่านอื่น ๆ ไม่มากก็น้อย

แหล่งที่มา  http://www.novabizz.com/NovaAce/Time/Time_Management-Effective.htm

3/21/2556

เทคนิคการทำงานเป็นทีมให้เกิดประสิทธิภาพ

  การที่จะทำให้องค์กรก้าวไปสู่ความสำเร็จไม่ว่าจะในระดับใดก็ตามนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าต้องอาศัยกระบวนการและเทคนิคที่หลาย ๆ คนรู้จักกันเป็นอย่างดีว่า “ทีมเวิร์ก” ซึ่งการทำงานแบบทีมเวิร์กจะมีประสิทธิภาพสูงสุด อาจจะฟังดูเป็นเรื่องใหญ่ แต่ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่อาศัยเทคนิคง่าย ๆ ก็จะทำให้การทำงานแบบทีมเวิร์กสำเร็จได้ไม่ยากเย็น

สร้างจุด “โฟกัส” เพื่อการทำงานเป็นทีม

          หนึ่งในหลาย ๆ สิ่งที่จะทำให้การทำงานเป็นทีม (Teamwork) ประสบความสำเร็จนั้น ทีมงานต้องไม่หลงลืมที่จะสร้างจุด “โฟกัส” ให้กับการทำงาน เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่เสียเวลาไปกับสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เมื่อเราเข้าใจทิศทางของการทำงานอย่างถูกต้องครบถ้วนเหมือนกันแล้ว ก็จะทำให้การทำงานง่ายและสะดวกมากขึ้น เพราะเมื่อเรารู้ทิศทาง ตลอดจนรู้หน้าที่ของเราว่าเราจะต้องทำงานอย่างไรจึงจะทำให้ทีมก้าวไปสู่เป้า หมายได้อย่างมั่นคง ไม่เพียงแต่การสร้างจุด “โฟกัส” จะช่วยให้การทำงานมีจุดมุ่งหมายเท่านั้น แต่การทำงานอย่างมีจุดโฟกัสยังช่วยทำให้เกิดความรู้สึกร่วม อันจะนำไปสู่การความสำเร็จของการทำงานเป็นทีมอีกด้วย

เพิ่มความรู้สึกร่วมต่อการทำงาน
          การจะทำให้การทำงานแบบทีม เวิร์กมีจุดแข็งนั้น ทีมต้องไม่ละเลยที่จะสร้างความรู้สึกร่วม ให้มีแรงบันดาลใจในการทำงานร่วมกัน ไม่ใช่แต่จะมาทำงานโดยที่ต้องเฝ้ารอคำสั่ง ไร้ทิศทาง หรือปล่อยเวลาให้หมดไปวัน ๆ เท่านั้น เพราะการจะบรรลุเป้าหมายโดยนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้นั้น ต้องไม่ใช่บุคคลเพียงคนเดียวที่จะออกคำสั่งหรือดำเนินการ แต่ทุกคนในทีมต้องมีความรู้สึกร่วมกัน ต้องการรับผิดชอบร่วมกัน โดยสร้างภาวะผู้นำให้กับทุก ๆ คนในทีม อีกทั้งยังต้องให้ทีมรับรู้และเข้าใจตรงกันว่าจุดมุ่งหมายร่วมกันนั้นคือ อะไร เพื่อจะได้เกิดความรู้สึกร่วม และช่วยกันออกความคิดเห็นให้ไปในแนวทางเดียวกัน

ภาวะผู้นำกับความสำเร็จของทีมเวิร์ก
          หลายคนอาจรู้สึกคัดค้านขึ้น ภายในใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำกับการทำงานเป็นทีมว่าจะเกิดขึ้นได้ อย่างไร เราต้องไม่ลืมว่าการแสดงออกถึงความเป็นคนที่มีภาวะผู้นำนั้น ไม่ได้หมายความว่าคน ๆ นั้นจะต้องการทำให้ตัวให้โดดเด่นเหนือกว่าใครในการทำงาน หากแต่เป็นหนทางหนึ่งที่จะแสดงความคิดเห็น และดึงความสามารถที่ตนเองมีออกมาช่วยให้ทีมได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยภาวะผู้นำจะช่วยให้เราอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมภายในทีม ทำให้เราได้ทำงานได้ตรงตามหน้าที่ของเรา โดยที่ไม่ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นตัวถ่วงที่จะทำให้การทำงานล่าช้า ภาวะผู้นำนั้นต้องมาจากการฝึกฝนตนเองเพื่อทำให้เราเกิดความรู้สึกว่าอยากจะ ทำงานโดยสำนึกรู้ถึงหน้าที่ของตน ไม่ต้องรอให้ใครมาบังคับ และการทำงานอย่างมีภาวะผู้นำนี้ยังอาจจะช่วยให้คนรอบข้างเราได้รับอิทธิพล ของการทำงานอย่างมีระบบนี้ไปใช้ให้การทำงานเป็นทีมมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ปลดปล่อยพลังในการทำงาน
         เทคนิคการทำงานเป็นทีม  วิธีหนึ่งที่จะทำให้การทำงาน แบบทีมเวิร์กสำเร็จได้นั้น ผู้ทำงานต้องรู้จักปลดปล่อยพลังในการทำงานให้ออกมามากที่สุด เพื่อให้เกิดไฟในการทำงานและศักยภาพที่เต็มเปี่ยม อันจะส่งผลให้ผลลัพธ์กลับมาสู่องค์กรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ตรงประเด็นและเป้าหมายที่ทีมได้วางไว้ โดยไม่เสียเวลาไปกับสิ่งที่ไม่สำคัญ การส่งเสริมการปลดปล่อยพลังของคนทำงาน แทนการเก็บกดและปิดบังศักยภาพ ไม่เพียงแต่จะส่งผลดีต่อการทำงาน แต่ยังช่วยสร้างความรับผิดชอบร่วมกัน ไม่เกี่ยงกันทำงาน ซึ่งจะทำให้การทำงานเป็นทีมมีความแข็งแกร่งและยั่งยืนมากขึ้น

ที่มา  http://th.jobsdb.com/th