8/28/2557

ความรัก 4 แบบ อะไรคือรักแท้?


1.รักตัวกลัวตาย เป็นความรักขั้นพื้นฐานที่สุดของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน และที่เรียกว่าสรรพชีพ สรรพสัตว์ทุกชนิด  สรรพชีพ หมายถึง สิ่งมีชีวิตทั้งหลายซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นด้วยตา ทั้งอยู่ในโลกเดียวกันกับเราหรืออยู่ในโลกอื่นออกไป สรรพสัตว์ หมายถึง สัตว์ทั้งปวงที่เรามองเห็นได้ด้วยตา สิ่งมีชีวิตทั้งหมดไม่ว่าจะเรียกว่าคน หรือไม่เรียกว่าคนก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีความรักขั้นพื้นฐานคือรักตัวกลัวตาย ความรักอย่างนี้ เป็นความรักอิงสัญชาติญาณการดำรงชีวิตรอด สิ่งมีชีวิตทั้งหมดเกิดมาก็มีความรักชนิดนี้อยู่กับตัวแล้ว แต่ยังไม่ใช่รักแท้ เพราะในแง่ลบมันมีโอกาสสูงมากที่จะกลายเป็นความเห็นแก่ตัว นั่นคือด้วยเหตุที่พยายามจะเอาตัวรอด ก็เป็นเหตุให้ต้องทำร้ายทำลายชีวิตอื่นดังนั้นความรักตัวกลัวตายจึงไม่เพียงพอ และยังไม่ใช่รักที่แท้ ต้องพัฒนาต่อไป

2.รักใคร่ปรารถนา เป็นความรักในเชิงชู้สาว เกิดขึ้นทั้งกับคนและกับสิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งคือสรรพชีพ สรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่มีความผูกพันกันในเชิงชู้สาว ความรักชนิดนี้อิงอยู่กับสัญชาตญาณการสืบพันธุ์ แท้ที่จริงรากฐานของความรักชนิดนี้ก็มาจากความรักชนิดที่ 1 คือ รักตัวกลัวตายนั่นเอง แต่ว่าประณีตขึ้น แสดงออกละเมียดละไมมากขึ้น ดูเหมือนว่าแทนที่จะรักตัวกลัวตายอย่างเดียว ก็เผื่อแผ่ใจออกไปรักคนอื่นด้วยแต่แท้ที่จริงที่รักคนอื่นก็เพื่อให้คนอื่นนั้นมารักตัวเอง หากมองอย่างลึกซึ้ง รักใคร่ปรารถนาก็ยังเป็นความรักที่มีความเห็นแก่ตัวปนอยู่นั่นเอง ฉะนั้นรักใคร่ปรารถนาจึงยังไม่พอ

3. รักเมตตาอารี ความรักอิงความผูกพันทางสายเลือด นามสกุล ศาสนา ชาติพันธุ์ ชนชั้นวรรณะ ภาษาและวัฒนธรรม พูดง่ายๆว่า เป็นความรักที่เกิดขึ้นจากการที่มนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ตระหนักรู้ว่าผู้ที่ร่วมสายพันธุ์เดียวกันกับตนนั้นเป็นพวกเดียวกันกับตน ความรักชนิดนี้บางครั้งเราก็เรียกว่า ความรักอิงสายเลือดบ้าง ความรักอิงความเมตตาบ้าง เช่น พ่อแม่รักลูก ครูบาอาจารย์รักลูกศิษย์ เพื่อนรักเพื่อน นายรักลูกน้อง มนุษย์ด้วยกันรักมนุษย์ สัตว์ด้วยกันรักสัตว์ คนชาติเดียวกันรักคนชาติเดียวกัน เช่นคนไทยรักคนไทยมากกว่าฝรั่ง ฝรั่งก็จะรักฝรั่งมากกว่าคนไทย จีนก็จะรักจีนมากกว่าแขก นี่เรียกว่ารักเมตตาอารี แม้จะเป็นความรักที่มีรากฐานอยู่บนพื้นฐานของความเมตตา แต่ก็ยังไม่ปลอดภัยอยู่นั่นเอง เพราะยังมีข้อจำกัดว่าเลือกรักเลือกเมตตาเฉพาะเผ่าพันธุ์พงศสคณาญาติของตน แม้จะดูกว้างขวางแต่ก็ยังไปไม่พ้นพรมแดนของการถือเขาถือเราอยู่นั่นเอง

4. รักมีแต่ให้ เป็นความรักของมนุษย์ผู้ที่ได้ค้นพบภาวะความเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานในหัวใจอย่างลึกซึ้ง แล้วหลุดพ้นจากกิเลสขึ้นมากลายเป็นอารยชน ความรักชนิดนี้เกิดขึ้นจากการมองเห็นความไร้แก่นสารหรือความไม่มีตัวตนของตนเอง จึงไม่มีตัวตนไว้สำหรับเห็นแก่ตัว เมื่อไม่เห็นแก่ตัว จึงเห็นแก่โลกทั้งผอง หัวใจไร้พรมแดน เกิดเป็นความรักขั้นสูงสุด มองคน มองสรรพชีพ มองสรรพสัตว์ทั้งหลายในลักษณะโลกทั้งผองพี่น้องกัน ความรักชนิดนี้เป็นความรักแท้ เปิดเผย บริสุทธิ์ จริงใจ โดยไม่เรียกร้องการตอบแทน เปรียบเสมือนแสงเดือนแสงตะวันที่สาดโลมผืนโลกโดยไม่เคยเรียกร้องสิ่งตอบแทน เปรียบเสมือนสายฝนและดงดอกไม้ที่ชโลมผืนโลก ให้ความชุ่มชื่นเย็น งดงาม และไม่ต้องการให้ใครมองเห็นคุโณปการของตัวเอง เป็นดอกไม้ก็ส่งกลิ่นหอม แล้วร่วงโรยไปตามวันเวลาอย่างสงบเงียบ ไม่ปรารถนาจะเป็นที่ปรากฎอะไร

ธรรมะ โดย: พระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี)

ขอบคุณข้อมูลจาก :: www.inwza.com

8/21/2557

บันได 5 ขั้น พัฒนาสู่ความสุข


บันได 5 ขั้น พัฒนาสู่ความสุข
บันไดขั้นที่ 1 มองตัวเองว่าดีและมีค่าทุกวัน ในแต่ละวันให้นึกถึงความดี และความโชคดีของตนเอง เริ่มต้นด้วยการตื่นนอนตอนเช้า ให้ยิ้มกับตัวเอง และนึกว่าโชคดี
ที่ได้ตื่นขึ้นมาแล้ว ให้นึกถึงความดีของตนเองที่เคยทำมาแล้วในอดีต (ที่สามารถนึกได้ง่าย ๆ) เช่น เคยทำบุญ เคยช่วยคนที่อ่อนแอกว่า เคยสงเคราะห์สัตว์ ฯลฯ คิดว่าตัวเองดี
และมีคุณค่าที่ได้เคยทำสิ่งดี ๆ และให้นึกซ้ำ ๆ จะได้เกิดความเชื่อตามที่นึกนั้น คุณก็จะเกิดความอิ่มเอิบใจ และเชื่อว่าตัวเองมีความดี ความเก่ง ตามความเป็นจริงในขณะนั้น
ด้วย คุณจะเกิดความอยากมีชีวิตอยู่ และสร้างสิ่งที่ดี ๆ ให้กับชีวิตต่อไป และต้องอวยพรตัวเองเสมอ ๆ อย่าแช่ง หรือตำหนิตัวเอง และอย่ารอให้คนอื่นมาชื่นชมคุณ ซึ่งมักจะไม่ได้
ดั่งใจ หรือได้มาก็ไม่สมใจ
บันไดขั้นที่ 2 มองคนอื่นดี มองโลกในแง่ดี ขั้นนี้คุณจะต้องมองว่าทุก ๆ คน มีขีดจำกัดของความสามารถ ความดี ความเก่งกันทุกคน ตามความเป็นจริงของเขา ซึ่งไม่
เท่ากัน และไม่เหมือนกันเลย ส่วนความไม่ดี หรือไม่เก่งของเขา (ซึ่งมีกันทุกคน) ปล่อยให้เป็นเรื่องของเขาไป ให้มองเฉพาะส่วนที่ดีของเขาเท่านั้น ถ้าคุณทำได้เช่นนี้ คุณก็จะ
เป็นคนที่มองอนาคต และชีวิตดี มีความหวังที่ดีในชีวิตตลอดเวลา สองสิ่งนี้ ถ้าคุณทำเป็นนิสัย คุณจะพบว่า โลกนี้มีสิ่งที่ดี ๆ และไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคต่าง ๆ และท้ายที่สุดก็จะ
กลายเป็นสุขนิยมทั้งชีวิต
บันไดขั้นที่ 3 ทำวันนี้ให้ดีที่สุด คือการอยู่กับปัจจุบัน ทำกิจกรรมในวันนี้และเวลานี้ให้ดีที่สุด ทำได้แค่ไหนเอาแค่นั้น ไม่ทุกข์ร้อน หรือคาดหวังกับผลลัพธ์ของมัน ไม่ว่า
จะสมใจ หรือไม่สมใจก็ตาม จงชื่นชมในความตั้งใจทำเต็มความสามารถของตนเอง และคิดต่อว่า ในอนาคตจะต้องทำให้ดีกว่านี้ นอกจากนั้น คุณต้องเลิกจดจำ หรือนึกถึงเรื่อง
ที่ไม่ดีที่เกิดกับคุณในอดีต เพราะการจดจำเรื่องราวที่ไม่ดีในอดีต เท่ากับคุณไปสะกิดแผลในใจ และจะทำให้คุณเจ็บปวดมากยิ่งขึ้น จนส่งผลให้ปัจจุบันคุณไม่มีความสุข และ
กลัวว่าอนาคตจะเกิดสิ่งที่ไม่ดีซ้ำ ๆ อีก
บันไดขั้นที่ 4 มีความหวังและเชื่อว่าอนาคตจะดีเสมอ ความหวัง ความเชื่อ เกิดจากความคิดถึงบ่อย ๆ หรือได้ยินบ่อย ๆ จงนึกและบอกกับตัวเองเสมอว่า อนาคตจะ
ดีขึ้นอีกเรื่อย ๆ จะส่งผลให้เกิดกำลังใจมากขึ้น อยากพบเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่จะเข้ามาในชีวิตโดยไม่กลัว มีอารมณ์ขัน และไม่จริงจังกับชีวิตมากนัก แต่จะมีความหวังที่ดี ๆ (Good Hope) อยู่เสมอ แต่อย่ามีความคาดหวัง (Expectation) กับชีวิต เพราะถ้าคาดหวังกับชีวิต เรามักจะกลัว หรือกังวลว่าจะไม่ได้ผลลัพธ์ดังความคาดหวัง หรือเมื่อได้มาแล้วก็มักไม่พอใจ จึงอาจทำให้เกิดทุกข์ได้    
บันได้ขั้นที่ 5 ปรับปรุงตัวเองเสมอ โดยปรับปรุง 4 ส่วนที่มีความสำคัญต่อชีวิตคือ
          1. การงาน ให้มีความขยัน อดทน หมั่นหาความรู้ใส่ตัว และกล้าลงมือปฏิบัติในสิ่งที่ควรทำ จะทำให้มีการลงมือทำสิ่งใหม่ ๆ ในชีวิตได้เรื่อย ๆ และปรากฏเป็นผลงาน
ที่ชัดเจน
          2. ครอบครัว จะต้องยึดหลักที่เป็นมงคลต่อกันคือ ไม่อิจฉา ไม่ระแวง ไม่แข่งขัน ไม่นอกใจ รู้จักการให้และการอภัย มีน้ำใจ และรู้จักเกรงใจกัน
          3. สังคม หมั่นสร้างมิตรเสมอ มีการให้ความสำคัญกัน ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และพูดจากันแบบปิยะวาจา
          4. ตนเอง ต้องมีการพัฒนาตนเองเสมอ มีความภูมิใจตนเองตามความเป็นจริง สามารถให้กำลังใจตัวเองได้ และมีกำลังใจที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงตนเองไปในทางที่ดีขึ้น
          เมื่อบุคลากรขององค์กรแต่ละบุคคลได้ใช้ชีวิตการทำงานอยู่กับสิ่งที่ตนเองพอใจก็จะทำให้มีสภาพจิตใจ และอารมณ์ที่ดี ซึ่งส่งผลให้ทำงานดีตามไปด้วย ดังนั้น จึงจำเป็น
อย่างยิ่งที่แต่ละองค์การจะต้องศึกษาหรือแสวงหาหนทางให้เกิดความสอดคล้องต้องกันของความพึงพอใจระหว่าง พนักงานและองค์การ เพื่อให้องค์การสามารถบรรลุเป้าหมาย
สูงสุด
 ข้อมูล จาก www.stou.ac.th/study/sumrit/8-57(500)/page1-8-57(500).html