1.รักตัวกลัวตาย
เป็นความรักขั้นพื้นฐานที่สุดของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน และที่เรียกว่าสรรพชีพ
สรรพสัตว์ทุกชนิด สรรพชีพ หมายถึง
สิ่งมีชีวิตทั้งหลายซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นด้วยตา
ทั้งอยู่ในโลกเดียวกันกับเราหรืออยู่ในโลกอื่นออกไป สรรพสัตว์ หมายถึง
สัตว์ทั้งปวงที่เรามองเห็นได้ด้วยตา สิ่งมีชีวิตทั้งหมดไม่ว่าจะเรียกว่าคน
หรือไม่เรียกว่าคนก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีความรักขั้นพื้นฐานคือรักตัวกลัวตาย
ความรักอย่างนี้ เป็นความรักอิงสัญชาติญาณการดำรงชีวิตรอด
สิ่งมีชีวิตทั้งหมดเกิดมาก็มีความรักชนิดนี้อยู่กับตัวแล้ว แต่ยังไม่ใช่รักแท้
เพราะในแง่ลบมันมีโอกาสสูงมากที่จะกลายเป็นความเห็นแก่ตัว
นั่นคือด้วยเหตุที่พยายามจะเอาตัวรอด
ก็เป็นเหตุให้ต้องทำร้ายทำลายชีวิตอื่นดังนั้นความรักตัวกลัวตายจึงไม่เพียงพอ
และยังไม่ใช่รักที่แท้ ต้องพัฒนาต่อไป
2.รักใคร่ปรารถนา เป็นความรักในเชิงชู้สาว
เกิดขึ้นทั้งกับคนและกับสิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งคือสรรพชีพ
สรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่มีความผูกพันกันในเชิงชู้สาว
ความรักชนิดนี้อิงอยู่กับสัญชาตญาณการสืบพันธุ์
แท้ที่จริงรากฐานของความรักชนิดนี้ก็มาจากความรักชนิดที่ 1 คือ รักตัวกลัวตายนั่นเอง
แต่ว่าประณีตขึ้น แสดงออกละเมียดละไมมากขึ้น
ดูเหมือนว่าแทนที่จะรักตัวกลัวตายอย่างเดียว
ก็เผื่อแผ่ใจออกไปรักคนอื่นด้วยแต่แท้ที่จริงที่รักคนอื่นก็เพื่อให้คนอื่นนั้นมารักตัวเอง
หากมองอย่างลึกซึ้ง รักใคร่ปรารถนาก็ยังเป็นความรักที่มีความเห็นแก่ตัวปนอยู่นั่นเอง
ฉะนั้นรักใคร่ปรารถนาจึงยังไม่พอ
3. รักเมตตาอารี
ความรักอิงความผูกพันทางสายเลือด นามสกุล ศาสนา ชาติพันธุ์ ชนชั้นวรรณะ
ภาษาและวัฒนธรรม พูดง่ายๆว่า
เป็นความรักที่เกิดขึ้นจากการที่มนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ตระหนักรู้ว่าผู้ที่ร่วมสายพันธุ์เดียวกันกับตนนั้นเป็นพวกเดียวกันกับตน
ความรักชนิดนี้บางครั้งเราก็เรียกว่า ความรักอิงสายเลือดบ้าง
ความรักอิงความเมตตาบ้าง เช่น พ่อแม่รักลูก ครูบาอาจารย์รักลูกศิษย์
เพื่อนรักเพื่อน นายรักลูกน้อง มนุษย์ด้วยกันรักมนุษย์ สัตว์ด้วยกันรักสัตว์
คนชาติเดียวกันรักคนชาติเดียวกัน เช่นคนไทยรักคนไทยมากกว่าฝรั่ง
ฝรั่งก็จะรักฝรั่งมากกว่าคนไทย จีนก็จะรักจีนมากกว่าแขก นี่เรียกว่ารักเมตตาอารี
แม้จะเป็นความรักที่มีรากฐานอยู่บนพื้นฐานของความเมตตา
แต่ก็ยังไม่ปลอดภัยอยู่นั่นเอง
เพราะยังมีข้อจำกัดว่าเลือกรักเลือกเมตตาเฉพาะเผ่าพันธุ์พงศสคณาญาติของตน
แม้จะดูกว้างขวางแต่ก็ยังไปไม่พ้นพรมแดนของการถือเขาถือเราอยู่นั่นเอง
4. รักมีแต่ให้
เป็นความรักของมนุษย์ผู้ที่ได้ค้นพบภาวะความเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานในหัวใจอย่างลึกซึ้ง
แล้วหลุดพ้นจากกิเลสขึ้นมากลายเป็นอารยชน ความรักชนิดนี้เกิดขึ้นจากการมองเห็นความไร้แก่นสารหรือความไม่มีตัวตนของตนเอง
จึงไม่มีตัวตนไว้สำหรับเห็นแก่ตัว เมื่อไม่เห็นแก่ตัว จึงเห็นแก่โลกทั้งผอง
หัวใจไร้พรมแดน เกิดเป็นความรักขั้นสูงสุด มองคน มองสรรพชีพ
มองสรรพสัตว์ทั้งหลายในลักษณะโลกทั้งผองพี่น้องกัน ความรักชนิดนี้เป็นความรักแท้
เปิดเผย บริสุทธิ์ จริงใจ โดยไม่เรียกร้องการตอบแทน
เปรียบเสมือนแสงเดือนแสงตะวันที่สาดโลมผืนโลกโดยไม่เคยเรียกร้องสิ่งตอบแทน
เปรียบเสมือนสายฝนและดงดอกไม้ที่ชโลมผืนโลก ให้ความชุ่มชื่นเย็น งดงาม
และไม่ต้องการให้ใครมองเห็นคุโณปการของตัวเอง เป็นดอกไม้ก็ส่งกลิ่นหอม แล้วร่วงโรยไปตามวันเวลาอย่างสงบเงียบ
ไม่ปรารถนาจะเป็นที่ปรากฎอะไร
ธรรมะ โดย: พระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี)
ขอบคุณข้อมูลจาก :: www.inwza.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ลานปันความรู้