2/06/2558

ทำไมการเปลี่ยนแปลงถึงได้ยากนัก


เรื่องของการเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ ถ้าเราสังเกตสิ่งรอบตัวเรา หรือแม้กระทั่งตัวเราเองก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่ทำไมเราถึงไม่ค่อยอยากที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้น จะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าก็ตาม

บทความวันนี้จะเน้นไปที่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงระบบงานต่างๆ ในองค์กร โดยเฉพาะระบบงานทางด้านการบริหารจัดการต่างๆ ที่ผู้บริหาร และฝ่ายงานต่างๆ พยายามเอามาปรับใช้ในองค์กร

จริงๆ แล้วองค์กรเองก็เหมือนกับคนคนหนึ่ง ที่ต้องการเติบโต ต้องการก้าวหน้า และต้องการความสำเร็จ ซึ่งสิ่งที่ต้องการเหล่านี้ ล้วนต้องเกิดจากการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่อยู่เฉยๆ แล้วมันจะเติบโตและก้าวหน้าได้ แต่เราต้องปรับปรุง ต้องเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานอยู่เสมอ

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในการนำเอาระบบการบริหารจัดการใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการองค์กรของเรา มักจะมีการต่อต้าน หรือไม่ก็คิดแล้วคิดอีกว่าสิ่งใหม่ที่จะนำเข้ามานั้นมันดีจริงๆ หรือ จากประสบการณ์ของผมที่เป็นที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลมากว่า 20 ปี ก็พอจะสังเกตได้ว่า สาเหตุของการที่องค์กรไม่ยอมเปลี่ยนแปลง หรือจะเปลี่ยนอะไรสักอย่างช่างยากเย็นมาก นั้นมีอะไรบ้าง ลองมาดูกันนะครับ

เห็นของเดิมว่ามันดีอยู่แล้ว สาเหตุแรกที่มักจะพบเจอบ่อยๆ ก็คือ เห็นว่าของเดิมที่ใช้อยู่นั้น มันก็ดีอยู่แล้ว ไม่เห็นจะต้องไปเปลี่ยนแปลงอะไรเลย และสาเหตุที่มองว่าของเดิมดีอยู่แล้วก็เนื่องมาจาก ความสำเร็จที่ได้มาจากของเดิม ก็เลยมองว่านี่คือสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไรอีกต่อไป ซึ่งบางครั้งมันไม่ใช่ เนื่องจากองค์กรมีนโยบาย มีแผนกลยุทธ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นระบบงานบางอย่างจึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ดังกล่าว
ไม่เห็นว่าของใหม่ดีกว่าอย่างไร สาเหตุนี้ต่อเนื่องจากในข้อแรก ก็คือ ยังมองไม่เห็นว่าของใหม่ที่จะนำมาใช้นั้นมันดีอย่างไร และมันจะทำให้บริษัทเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นจริงๆ หรือ ผู้บริหารบางองค์กรปากก็บอกว่าอยากให้มีระบบการบริหารจัดการที่ดีขึ้น แต่พอเริ่มต้นเอาระบบใหม่มาใช้ ตัวผู้บริหารที่เอ่ยปากเองก็เริ่มที่จะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงเสียเอง เพราะกังวลว่า ของใหม่จะทำให้บริษัทดีขึ้นจริงๆ หรือ พอไม่แน่ใจมากๆ เข้า ก็เลยกลับมาใช้แบบเดิมๆ อีก สุดท้ายก็เลยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
กลัวเกิดผลกระทบกับคนเก่าแก่ อีกสาเหตุหนึ่งก็คือกลัวว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนั้นจะทำให้มีผลกระทบตามมามากมาย ไม่ว่าจะเรื่องของการต่อต้าน ความเข้าใจ และที่สำคัญก็คือ ผลกระทบต่อตัวพนักงานบางคนในองค์กรซึ่งเป็นพนักงานที่อยู่ทำงานกันมานาน เรื่องนี้สิ่งที่ผมมักจะพบเจอมาก็คือ ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กร บางครั้งจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะแผนงาน และกลยุทธ์ขององค์กรเปลี่ยนแปลงไป โครงสร้างองค์กรก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย แต่พอเสนอเปลี่ยนแปลง ก็จะเกิดความกลัวตามมาว่า แล้วผู้บริหารเดิมจะคิดอย่างไร ทำแบบนี้มันไม่รักษาคนเก่าแก่ไว้เลย แล้วคนกลุ่มนี้จะทำอย่างไรดี ฯลฯ ซึ่งจริงๆ แล้วมันต้องมีแผนในการรับมือกับสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว เพียงแต่ผู้บริหารคิดไปก่อน และคิดไปเอง แทนที่จะมีการวางแผนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง
กลัวพนักงานต่อต้าน การเปลี่ยนแปลงบางอย่างก็ไม่สำเร็จเนื่องจาก ผู้บริหารกลัวว่าพนักงานจะต่อต้านการเปลี่ยนแปลงนั้น แล้วจะทำให้การทำงานหยุดชะงักไป หรือจะรวมตัวกันประท้วง ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อการทำงานในภาพรวมของบริษัท สุดท้ายด้วยความกลัวตรงนี้ก็เลยตัดสินใจไม่เปลี่ยนแปลงอะไรดีกว่า
จริงๆ ยังมีสาเหตุย่อยๆ อีกมากมายเกี่ยวกับการไม่ยอมเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่เขียนมาข้างต้นนั้น เป็นประเด็นหลักๆ ที่มักจะพบเจอกันบ่อยๆ คำถามถัดมาก็คือ แล้วเราจะทำอย่างไรดี ถ้าองค์กรจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่ยังกลัวปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

พรุ่งนี้ผมจะเล่าให้อ่านกันนะครับว่า เราจะมีวิธีการบริหารการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างราบรื่นมากที่สุด และส่งผลกระทบต่อการทำงานขององค์กรน้อยที่สุดครับ

แหล่งที่มา https://prakal.wordpress.com

2/05/2558

เราเป็น HR ที่มีคุณค่าในตัวเอง หรือต้องพยายามบอกคนอื่นว่าเรามีคุณค่า



ถ้าคนเรามีคุณค่าในตัวเราเอง โดยปกติแล้วเราก็ไม่จำเป็นต้องไปป่าวประกาศว่า เราเก่งเรื่องอะไร หรือมีคุณค่าในด้านใด เพราะจากผลงานที่เราทำ ก็น่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าเราเป็นนั้นหรือไม่ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปโฆษณาชวนเชื่อใดๆ ให้ใครทราบเลย เพราะสักพัก ก็จะมีคนบอกกันปากต่อไปไปเรื่อยๆ

ฝ่ายบุคคลหรือหน่วยงานทรัพยากรบุคคลก็เช่นกัน หน่วยงานบุคคลนี้ ในอดีตถูกมองว่าเป็นหน่วยงานที่ทำงานในลักษณะของงาน Admin มากกว่า งานที่มีคุณค่าต่อองค์กร แต่ด้วยหลักการและตรรกะในเรื่องของความสำเร็จของธุรกิจที่เราต้องอาศัยคนเข้ามาทำงาน เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ ด้วยเหตุนี้ เรื่องของการบริหารคนก็เลยกลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและมีคุณค่ามากขึ้นอย่างที่เรารับรู้ได้ในปัจจุบัน

แต่อย่างไรก็ดี แม้ว่าฝ่ายบุคคลจะมีความสำคัญในหลักการก็จริง แต่ในทางปฏิบัติเอง ก็ยังมีปัญหาในเรื่องของการหาคุณค่าในตนเองอยู่ เลยมีคำถามว่า จริงๆ แล้วฝ่ายบุคคลเป็นหน่วยงานที่มีคุณค่าในตนเองจริงๆ หรือเป็นหน่วยงานที่เราต้องไปเที่ยวป่าวประกาศว่า จริงๆ แล้วคนสำคัญนะ ดังนั้นฝ่ายบุคคลที่เราทำงานอยู่จึงมีความสำคัญนะ ลองพิจารณาจากเหตุการณ์ดังต่อไปนี้ดูนะครับ

ฝ่ายบุคคลขององค์กรเราต้องพยายามบอกพนักงานทุกคนหรือเปล่า ว่างานบริหารทรัพยากรบุคคลนั้นมีความสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กร และฝ่ายบุคคลเองก็ถือว่าเป็นหน่วยงานที่ต้องมี แต่ในความเป็นจริง กลับทำงานแบบไม่ค่อยใส่ใจระบบการบริหารบุคคลสักเท่าไหร่ ไม่มีระบบสรรหาคัดเลือกที่ดี ไม่มีระบบการพัฒนาพนักงานที่ดี ไม่มีระบบการบริหารค่าตอบแทนที่ดี ฯลฯ จนทำให้พนักงานและผู้จัดการทุกระดับรู้สึกเอือมกับฝ่ายบุคคล แต่พอถึงเวลาที่มีประชุมฝ่าย ฝ่ายบุคคลก็มักจะนำเสนอเพื่อให้นายเห็นถึงความสำคัญของการมีฝ่ายนี้ และงานนี้ ทั้งๆ ที่ในทางปฏิบัติแทบจะไม่ได้ทำตามมาตรฐานของงานบุคคลเลย
ฝ่ายบุคคลของเราทำงานในเชิงรับมากกว่าเชิงรุกหรือเปล่า ปากก็บอกว่างานบุคคลสำคัญมาก แต่เวลาทำงานจริงๆ กลับทำงานในเชิงรับมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ก็ต้องให้ผู้จัดการสายงาน และพนักงานบ่นให้ฟังก่อน ว่าบริษัทเรางานบุคคลยังแย่เรื่องอะไร ถึงจะเอาไปปรับปรุง ซึ่งบางเรื่องก็แทบจะไม่ปรับปรุงอะไรเลยด้วยซ้ำไป แต่พอผู้บริหารสอบถาม ก็ตอบในลักษณะที่ว่ามีข้อจำกัดในการทำงานมากมาย
ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงอะไรง่ายๆ เรื่องของการเปลี่ยนแปลงนั้น เราถือว่าเป็นเรื่องปกติในยุคปัจจุบัน องค์กรต้องเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ถ้าฝ่ายบุคคลที่ได้ชื่อว่า เป็น Change Agent ทำตัวไม่เปลี่ยนแปลงเสียเอง ก็จะมีปัญหาตามมาในเรื่องของการบริหารจัดการอีกมากมาย
ถ้าเราเป็นอย่างที่เขียนไว้ข้างต้น นั่นแปลว่า เรากำลังทำให้ฝ่ายบุคคลของเราหมดคุณค่าลงไปโดยไม่รู้ตัว แม้ว่าเราจะไปเที่ยวป่าวประกาศว่า ฝ่ายบุคคลสำคัญนะ แต่เอาเข้าจริงๆ เราก็ไม่สามารถทำแบบที่ฝ่ายบุคคลที่ดีที่เขาทำกันได้

ในทางตรงกันข้ามถ้าฝ่ายบุคคลทำงานอย่างจริงจัง และคิดไปในเชิงรุกมากกว่าเชิงรับ พยายามคิดถึงประโยชน์ของพนักงานในส่วนรวม ไม่ได้มองแต่ตนเอง และผลประโยชน์ของตนเองแต่เพียงอย่างเดียว คิดถึงความรู้สึกของพนักงาน และสร้างความสมดุลให้กับบริษัท และกับพนักงานได้อย่างดี ถ้าเราทำได้แบบนี้จริงๆ เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปป่าวประกาศว่า หน่วยงานของเราสำคัญ เพราะพนักงาน และผู้บริหารจะรู้เองว่า ขาดเราไม่ได้ และจะต้องอาศัยหน่วยงานของเราเพื่อทำให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้

แหล่งที่มา https://prakal.wordpress.com

อยากเป็นพนักงานแบบโหลๆ หรือเป็นพนักงานที่มีแต่ความโดดเด่น



ความสำเร็จในหน้าที่การงาน เป็นสิ่งที่ชาวมนุษย์เงินเดือน หรือคนทำงานทุกคนล้วนแต่อยากได้มันมา แต่ประเด็นก็คือ คำว่า ประสบความสำเร็จนั้น ความหมายของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันอีก บางคนมองว่าได้รับเงินเดือนสูงๆ ได้รับการเลื่อนตำแหน่งไปเรื่อยๆ โดยที่งานก็เหมือนเดิม ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว แต่บางคนมองว่า ได้งานที่ชอบ มีความท้าทาย และได้มีโอกาสพัฒนาตนเองต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้ตัวเองมีความเก่งกาจสามารถมากขึ้น ส่วนเรื่องเงินเดือนหรือค่าตอบแทนนั้น ถ้าเราเก่งจริงๆ เดี๋ยวมันก็มาเอง

แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ มองอย่างไรกับคำว่าประสบความสำเร็จในการทำงาน

คนเราส่วนใหญ่ ถูกสอนให้คิดไปในทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา การใช้ชีวิต และมักจะไม่ค่อยมีคำถามให้กับตนเองสักเท่าไหร่ ว่าทำไมเราถึงต้องทำแบบนั้น

บางคนถูกสอนตั้งแต่เด็กๆ ว่า จะต้องเรียนหนังสือให้ดี เกรดต้องดี เพราะมันจะส่งผลต่อการทำงาน และการได้งานทำ ถ้าอยากได้งานที่เงินเดือนดีๆ ก็ต้องเรียนหนังสือให้เก่ง เกรดต้องดีด้วย

พอจบมาทำงาน ก็พยายามที่จะเลือกงานที่มีเงินเดือนเยอะๆ ไว้ก่อน โดยที่ไม่มองว่า จริงๆ แล้วตนเองชอบงานนั้นหรือไม่ คิดแค่เพียงว่า ต้องได้รับเงินเดือนเยอะๆ และต้องได้เลื่อนตำแหน่งเร็วๆ เพราะนี่คือสิ่งที่สะท้อนความสำเร็จในชีวิตการทำงาน

คำถามคือ เป็นแบบนั้นจริงๆ หรือ?

คนที่คิดแบบนั้น จะมีลักษณะทัศนคติในการทำงานที่เหมือนกันเกือบหมด คือ ถ้าบริษัทไม่ให้เงินเดือนที่ดี ก็จะไม่ตกลงทำงาน ทั้งๆ ที่ตัวเราเองยังไม่ได้แสดงผลงานอะไรเลย แต่เราก็ต่อรองเรื่องเงินเดือนกันแล้ว ถ้าโชคดีเจอบริษัทที่ให้เงินเดือนตามที่เราต้องการได้ สิ่งต่อไปที่เราต้องการก็คือ การได้ขึ้นเงินเดือนเยอะๆ และการได้รับการเลื่อนตำแหน่งเร็วๆ โดยที่ไม่สนใจว่าผลงานที่ออกมาจะเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดี

คนที่คิดแบบนี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเหมือนกับพนักงานส่วนใหญ่ ก็คือ เป็นพนักงานแบบยกโหล ก็คือ ไม่เคยถามตัวเองว่า เราจะประสบความสำเร็จจริงๆ ได้อย่างไร ไม่เคยถามตัวเองว่า ที่เราทำงานอยู่ทุกวันนี้ จะมีความก้าวหน้าได้อย่างไรในการทำงานจริงๆ ที่ไม่ใช่แค่เพียงตำแหน่งหน้าที่ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

แล้วพนักงานแบบไหนที่มีความโดดเด่น และเป็นพนักงานที่องค์กรอยากเก็บไว้มากที่สุด

มีเป้าหมายในการทำงานของตนเองที่ชัดเจน ถ้าไม่อยากเป็นพนักงานแบบโหลๆ ก็คงต้องมีเป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจนมากๆ ว่าเราเองอยากที่จะทำงานอะไร รักงานอะไร และจะเติบโตในงานนี้ได้อย่างไร ไม่ใช่แบบว่า ทำงานอะไรก็ได้ แต่ขอให้ได้เงินเดือนตามที่เราต้องการ ถ้าคิดแบบนี้ ก็คงไม่โตไปไหนได้อย่างแน่นอน
ทำงานด้วยความใส่ใจ พนักงานที่มีความโดดเด่นกว่าคนอื่นนั้น จะมีนิสัยอย่างหนึ่งที่แตกต่างจากคนอื่น ก็คือ จะลงมือทำงานด้วยความใส่ใจ ตั้งใจ ไม่ใช่แค่เพียงทำเสร็จตามคำสั่งเท่านั้น แต่จะทำไป คิดไป และคิดต่อยอดไปอีกว่า จะทำยังไงให้งานเสร็จเร็วขึ้น และทำยังไงให้งานออกมาดีกว่าที่เคยเป็นมาก่อน จะคิดด้วยว่า งานที่ทำอยู่นั้นมีอะไรที่ยังไม่ดีบ้าง และจะทำอะไรให้ดีขึ้นได้บ้าง ผิดกับพนักงานแบบยกโหล จะคิดเหมือนกันว่า ทำงานให้เสร็จตามที่นายสั่งก็พอแล้ว เพราะเงินเดือนก็ได้อยู่แค่นี้ จะทำอะไรมากมาย
ทำงานเกินกว่าเงินเดือนที่ได้รับ อีกประเด็นหนึ่งที่จะทำให้เราไม่ใช่พนักงานแบบยกโหลก็คือ เราต้องมีทัศนคติแบบทำงานเกินกว่าเงินเดือนที่ได้รับ กล่าวคือ เวลานายมอบหมายงานอะไรที่นอกเหนือจาก Job Description ก็จะยินดีที่จะทำให้ หรือนายให้งานที่ยากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งทำให้เราต้องใช้เวลามากขึ้น ใช้ความพยายามมากขึ้น พนักงานที่ประสบความสำเร็จจะคิดว่านี่คือสิ่งที่ท้าทายในการทำงาน และถ้าทำสำเร็จ เราก็จะก้าวหน้าขึ้นไปอีกขึ้นหนึ่ง โดยไม่คิดเลยว่ามันจะเกินกว่าเงินเดือนที่เราได้รับอยู่หรือเปล่า แต่ในทางตรงกันข้ามพนักงานยกโหลก็มักจะคิดแค่เพียงว่า ทำแค่นี้ก็พอแล้ว และมักจะปฏิเสธงานยากๆ หรืองานใหม่ๆ ที่นายให้มา โดยให้เหตุผลว่าไม่มีเวลาทำ หรือบ่ายเบี่ยงไปเรื่อย โดยไม่เคยรู้เลยว่า การที่นายให้งานที่ยากขึ้นก็คือต้องการที่จะให้ได้เรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ และเป็นสิ่งที่จะพิสูจน์ได้ว่าเราจะเหมาะสมกับการเติบโตในองค์กรสักเพียงใด
พัฒนาตนเองอยู่เสมอ พนักงานแบบไม่ยกโหลจะมีคุณสมบัติอีกประการหนึ่งก็คือ จะเป็นคนที่พัฒนาตนเองอยู่เสมอ และพัฒนาโดยที่นาย หรือองค์กรไม่ต้องสั่ง หรือมอบหมายด้วยซ้ำไป พนักงานบางคนต้องรอให้บริษัทส่งไปอบรม หรือส่งไปเรียน แต่พนักงานที่มีความโดดเด่นนั้น จะพยายามขวนขวาย เรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ การฟังบทเรียนความรู้ต่างๆ และการเรียนรู้งานใหม่ๆ จากนายของตนเอง ผิดกับพนักงานธรรมดาๆ ก็คือ มักจะคิดว่า ถ้าองค์กรอยากให้เราเก่งขึ้นก็ต้องหาทางพัฒนาเราสิ บางคนบริษัทส่งไปเรียนแต่กลับไม่ตั้งใจ โดดการสัมมนาบ้าง หรือไปแบบไม่จบวันก็มี แล้วเอาเวลานั้นไปเที่ยวเล่นกับเพื่อน บางคนพอเลิกงานก็ไม่คิดที่จะพัฒนาตนเองในเรื่องของอนาคตการทำงานเลย เอาแต่ไปเที่ยวเล่นดูหนัง เฮฮาปาร์ตี้ไปเรื่อยๆ แล้วไม่ใช่แบบนานๆ ทีนะครับ แต่ไปแบบทุกวัน พอสุดท้ายก็มาคิดว่า “รู้งี้ไม่น่าทำแบบนี้เลย” แต่มันก็ช้าไปแล้ว ทำไมไม่ทำให้ถูกต้องตั้งแต่แรกจริงมั้ยครับ
กล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง พนักงานที่โดดเด่นและไม่เป็นแบบยกโหลนั้น มักจะเป็นคนที่กล้าคิด กล้าแสดงออก เมื่อคิดในสิ่งที่ถูกต้องก็กล้าที่จะบอกในสิ่งที่ถูกต้องเช่นกัน ในการคิดนั้นก็จะเป็นคนที่คิดต่อยอดสิ่งใหม่ๆ ไม่คิดวนเวียนอยู่กับสิ่งเดิมๆ เมื่อคิดได้แล้ว ก็จะแสดงออกให้เห็น โดยการนำเสนอความคิดนั้นอย่างมั่นใจ โดยไม่กังวลว่าคนอื่นจะมองว่าเราโง่ หรือมองว่าเราเด็ก หรือ ฯลฯ นอกจากคิดแล้ว ยังพยายามที่จะลงมือทำให้สำเร็จอีกด้วย ในกรณีที่ความคิดนั้นเป็นความคิดที่ดีและได้รับความเห็นชอบ ก็จะลงมือทำ และสร้างความฝันนั้นให้เป็นจริงขึ้นมาได้ ผิดกับพนักงานแบบยกโหลก็คือ นั่งเงียบเวลาประชุม ไม่เคยคิด ไม่เคยแสดงออกอะไรให้เห็น คิดแค่ว่า “จะคิดไปทำไม เดี๋ยวคนอื่นก็หาว่าเราไม่ฉลาด” หรือ คิดไปเองว่าเราเด็กเกินไป เราไม่เก่ง ไม่มั่นใจ ฯลฯ คิดแบบนี้ เราก็จะเป็นได้แค่เพียงพนักงานยกโหลเท่านั้น
ถ้าเราจะเป็นพนักงานที่ไม่ใช่พนักงานแบบยกโหล และเป็นแบบที่ใครก็เป็นกัน แต่อยากเป็นพนักงานที่มีความโดดเด่น และเป็นที่ต้องการของบริษัท เราก็คงต้องเปลี่ยนแปลงตนเอง ทั้งความคิด และการกระทำเสียใหม่ ไม่ให้เหมือนกับคนส่วนใหญ่ที่เขาเป็นกัน

แล้วเราก็จะเป็นพนักงานที่ทุกองค์กรต้องการตัวครับ

แหล่งที่มา https://prakal.wordpress.com

6 วิธีในการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นแบบง่ายๆ



1. ยินดีและยอมรับการเปลี่ยนแปลง
การพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น คุณจำเป็นจะต้องมีความต้องการอย่างมากที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง การเปลี่ยนแปลงตัวเองคือทางเดียวที่จะพาสิ่งที่คุณเป็นในทุกวันนี้ ไปสู่ตัวคุณที่คุณต้องการจะเป็น
คนส่วนใหญ่ไม่ชอบและต่อต้านการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะเป็นแรงฉุดที่ทำให้คุณอยู่กับที่ พยายามเปิดใจ ยินดีและยอมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่คุณตัดสินใจทำ คิดถึงความสุขและความสำเร็จที่คุณได้รับเสมือนหนึ่งว่า คุณสามารถพัฒนาตัวเองสำเร็จแล้ว

2. หยุดหาข้อแก้ตัวให้กับตัวเอง
เมื่อเกิดปัญหาก่อนหน้านี้ บ่อยครั้งที่ผมมักจะโทษว่าเป็นความผิดของคนหรือสิ่งต่างๆที่อยุ่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็น เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน ลูกค้่า จราจร หรือดินฟ้าอากาศ
หลังจากผมได้เรียนรู้หลักในการรับผิดชอบ  100% เพื่อชีวิตที่ดีกว่า ทำให้พบว่าการกล่าวโทษหรือบ่นให้กับสิ่งต่างๆ นอกจากจะไม่ทำให้อะไรดีขึ้น แล้วยังทำให้ตัวเรามีความสุขน้อยลงด้วย
เมื่อทำสิ่งใดแล้วไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่เราต้องการ ยืดอกแล้วยอมรับเถอะครับ ว่าเป็นเพราะตัวของเราเอง ใช้มันเป็นบทเรียนเพื่อพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นจะดีกว่า

3. ทำตัวเองให้เป็นแบบอย่างที่ดี
การทำตัวเองให้เป็นแบบอย่างที่ดี ช่วยให้เราพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งยิ่งช่วยทำให้ชีวิตเราดียิ่งขึ้น
เราอาจเริ่มจากจุดเล็กๆ เช่น การเป็นพี่ที่ดีให้กับน้องๆ การเป็นโค้ชให้กับเด็กๆ และการเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก ไม่ว่าคุณทำอะไร มันจะช่วยทำให้คุณรู้สึกว่ามีคนที่นับถือคุณอยู่ คอยดูคุณเป็นแบบอย่างที่ดีของพวกเขา

4. รู้จักการให้อภัย
ทุกคนรู้ว่าเป็นเรื่องดีแต่เป็นเรื่องยากที่จะให้อภัยกับคนที่ทำให้เราเสียใจหรือผิดหวัง แต่หากคุณสังเกตุดูตัวเอง ความโกรธที่คุณมี เหมือนกับการกำถ่านร้อนๆ ที่คุณพร้อมจะโยนใส่คนอื่น แต่คนที่เจ็บปวดที่สุดก็คือตัวเราเองที่ถูกเผาอยู่คนเดียว
คิดซ๊ะว่าคนเราทำผิดพลาดกันได้ เรียนรู้ที่จะปล่อยวางและให้อภัยแล้วคุณจะพบว่าตัวเราเองที่รู้สึกมีความสุขที่สุด

5. รู้จักการรับฟังที่ดี
ผู้คนในทุกวันนี้รีบเร่ง ยุ่งอยู่ตลอดเวลา ในการทำงาน ครอบครัว และใช้ชีวิต ไม่มีเวลาฟังในสิ่งที่สำคัญจนกระทั่งเราพลาดโอกาสสำคัญและความสุขในชีวิตไปอีกหลายอย่าง
ทำชีวิตของเราให้ช้าลงบ้าง เลือกใส่ใจและรับฟัง แล้วคุณจะพบความต้องการและโอกาสอีกมากมายที่ยังไม่มีใครได้ยิน

6. เรียนรู้ที่จะสร้างรอยยิ้มให้ผู้อื่น
สร้างนิสัยให้ตัวเอง คิดดี พูดดี และหาโอกาสสร้างรอยยิ้มให้กับคนที่เรารัก และคนที่อยู่รอบๆตัวเรา ช่วยเพิ่มความสุขในแต่และวันให้กับคนอื่น แล้วคุณจะพบว่าตัวคุณเองจะรู้สึกถึงความสุขนั้นมากกว่าใครๆ


แหล่งที่มา http://www.succeedlifestyle.com/