11/27/2550

ประชาสัมพันธ์โครงการพัฒนาสมรรถนะสำหรับข้าราชการกรมบัญชีกลาง

สมรรถนะข้าราชการกรมบัญชีกลาง


1. สมรรถนะหลักข้าราชการ ของสำนักงาน ก.พ.(ข้าราชการทุกคนต้องมี)ได้แก่ 1.การมุ่งผลสัมฤทธิ์ 2.การบริการที่ดี 3.การสั่งสมความเชี่ยวชาญในงานอาชีพ 4.การมีจริยธรรม 5.ความร่วมแรงร่วมใจ


2. สมรรถนะหลักข้าราชการของกรมบัญชีกลาง(ข้าราชการทุกคนต้องมี) ได้แก่ 1.สร้างสรรค์ ริเริ่ม 2.ทำงานเชิงรุกแบบข้ามหน่วยงาน 3.มั่นใจในตนเอง

3. สมรรถนะการทำงานข้ามสายงาน(ข้าราชการทุกคนต้องมี) ได้แก่ 1.สามารถเรียนรู้งานที่หลากหลาย 2.สามารถปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่น 3.สามารถปรับสไตล์การทำงานภายใต้ภาวะกดดันที่หลากหลาย

4. สมรรถนะทางการบริหาร(สำหรับข้าราชการระดับ 7 ขึ้นไป) ได้แก่ 1.การบริหารความเปลี่ยนแปลง 2.การวางแผนยุทธศาสตร์แบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ 3.การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหาร

กองพัฒนาทรัพยากรบุคคลได้จัดให้มีการประเมินสมรรถนะของตนเอง (Self Assessment) เพื่อค้นหาระดับสมรรถนะที่คาดหวัง และสมรรถนะที่ ข้าราชการมีอยู่ในปัจจุบัน และท่านอธิบดี (บุญศักดิ์ เจียมปรีชา) ท่านได้ส่งมอบผลของการประเมินสมรรถนะให้ทุกสำนัก กอง ศูนย์ เพื่อใช้เป็นแนวทางใน การพัฒนาสมรรถนะและสนับสนุนการพัฒนาสมรรถนะของข้าราชการให้มีสมรรถนะดังกล่าวข้างต้น สำหรับแนวทางการพัฒนาสมรรถนะนั้น กองพัฒนาทรัพยากรบุคคลได้จัดให้มีการพัฒนาสมรรถนะดังกล่าวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 โดยได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พัฒนาหลักสูตร ฝึกอบรมเป็น การเฉพาะ ได้แก่ (1) หลักสูตร พัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างความรู้แก่ข้าราชการกรมบัญชีกลาง (ระดับ 7) และ(2) หลักสูตร การเสริมสร้างสมรรถนะ ข้าราชการกรมบัญชีกลาง (ระดับ 6 ลงมา) รวมผู้ผ่านการพัฒนาสมรรถนะ ทั้งสิ้น 460 คน สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 กองพัฒนาทรัพยากรบุคคล ได้กำหนดแผนจัด ฝึกอบรมหลักสูตรดังกล่าวจำนวน 5 รุ่น โดย 1 ใน 5 รุ่น จัดให้เฉพาะเจ้าหน้าที่ดูเงินเป็นการเฉพาะ สำหรับรายละเอียดโครงการต่างๆ จะแจ้งให้ทราบต่อไป

รายงานผลโครงการติดตามประเมินผล หลักสูตร นักบริหารระดับต้น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2549

ตามที่กรมฯ อนุมัติให้กองพัฒนาทรัพยากรบุคคลดำเนินการติดตามประเมินผลโครงการฝึกอบรม หลักสูตร นักบริหารระดับต้น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทราบผลของการนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานของผู้ผ่านการฝึกอบรมหลังเสร็จสิ้นการอบรม และกลับไปปฏิบัติงานยังหน่วยงาน ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น

กองพัฒนาทรัพยากรบุคคลได้วิเคราะห์และแปลผลข้อมูล สามารถสรุปผลได้ ดังนี้

1. ความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการฝึกอบรม หลักสูตร นักบริหารระดับต้น ผลสรุป
- หลักสูตร นักบริหารระดับต้น มีความบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยผู้ผ่านการอบรมมีความรู้ ความสามารถเพิ่มขึ้น
- ผู้ผ่านการอบรมได้มีการนำความรู้ความเข้าใจที่ได้รับจากการอบรมไปใช้ในการปฏิบัติงานในฐานะนักบริหารระดับต้น มากถึงร้อยละ 44.38
- เนื้อหาวิชาที่ผู้ผ่านการอบรมนำความรู้ ความเข้าใจไปใช้ในการปฏิบัติงานมากที่สุด ได้แก่ การบริการ รองลงมา คุณธรรม จริยธรรม และบุคลิกภาพ ตามลำดับ
- เนื้อหาวิชาที่ผู้ผ่านการอบรมไม่นำไปใช้ในการปฏิบัติงาน มากที่สุด ได้แก่ การบริหารงบประมาณ และการประเมินผลการปฏิบัติงานโดยใช้ BSC / KPI
- ผู้ผ่านการอบรมได้แสดงพฤติกรรมกระตือรือร้นเต็มใจในการให้บริการ มากที่สุด คิดเป็น ร้อยละ 55.70 ตลอดจนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ใฝ่เรียนรู้ แสวงหาความรู้ ปรับภาวะทางอารมณ์ ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง และการเป็นผู้นำ มากขึ้น
- ผู้บังคับบัญชาของผู้ผ่านการอบรม ร้อยละ 75 มีความพึงพอใจต่อการนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปใช้ในการปฏิบัติงาน

2. การบริหารและจัดการโครงการฝึกอบรม หลักสูตร นักบริหารระดับต้น ผลสรุป

- ด้านหลักสูตรการฝึกอบรม เนื้อหาของหลักสูตร นักบริหารระดับต้น มีความเหมาะสมกับการเรียนรู้ และระยะเวลาที่จัดอบรม และผู้บังคับบัญชาของผู้ผ่านการอบรม ร้อยละ 75 มีความพึงพอใจผลของการปฏิบัติงานของผู้ผ่านการอบรม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เนื้อหาหลักสูตร นักบริหารระดับต้น มีความเหมาะสม
- ด้านการจัดฝึกอบรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่บริหารจัดการโครงการฝึกอบรม สามารถบริหารจัดการได้ดี อยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เอาใจใส่ ดูแลผู้ผ่านการอบรมเป็นอย่างดี ทำให้ผู้ผ่านการอบรมมีความพึงพอใจ มากถึงมากที่สุด
- ด้านผู้สอน / วิทยากร มีการอธิบาย และใช้เทคนิคการสอน สื่อการสอน ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ วิทยากรมีการเตรียมการสอน สามารถตอบข้อซักถามได้อย่างชัดเจน ผู้ผ่าน การอบรมมีความพึงพอใจต่อการสอนของวิทยากร มากถึงมากที่สุด
- ด้านผู้เข้ารับการอบรม ร้อยละ 74.39 ของผู้เข้ารับการอบรม มีความสนใจในการฟังบรรยาย ร้อยละ 66.46 มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น นอกจากนี้ ผู้ผ่านการอบรมมีการเตรียมตัวก่อนเข้าห้องอบรมโดยการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาวิชานั้นๆ เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น

จากการประเมินผลโครงการติดตามประเมินผลในครั้งนี้ กองพัฒนาทรัพยากรบุคคลเห็นว่า บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยภาพรวมผู้ผ่านการอบรมร้อยละ 44.38 สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการปฏิบัติงานได้ในระดับมาก สำหรับผลที่ได้รับจากการติดตามผลโครงการอบรม กองพัฒนาทรัพยากรบุคคลจะได้นำไปพิจารณาบริหารจัดการโครงการอบรมให้เหมาะสมต่อไป