6/14/2553

จะคุ้มหรือไม่ >>>> ถ้าป่วยเพราะทำงาน

เพื่อนๆ ทราบหรือไม่ว่า วัยทำงานเป็นช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตที่เรามีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์พร้อมต่อการทำงานหนัก เพื่อเก็บสะสมเงินทองเอาไว้ใช้ในเวลาที่กำลังวังชาถดถอย โดยเฉพาะคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมือง …
มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกได้ตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุของการเจ็บไข้ได้ป่วยจากการทำงานนั่งโต๊ะ ว่า คนที่ทำงานลักษณะนี้เป็นเวลานานติดต่อกันสัก 1-2 ปี มักจะเริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอาการบาดเจ็บของเนื้อเยื่ออ่อน (รู้จักกันในชื่อว่า CTD หรือ cumulative trauma disorder หรือ RSI - repetitive strain injury) ซึ่งเกิดจากน้ำหนักที่กดทับจากการนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน กล้ามเนื้อ เอ็น และประสาท เกิดการระคายเคืองหรืออักเสบ อาการที่ปรากฏอย่าง เช่น การปวดเมื่อยเอว หลัง เคล็ดขัดยอก หรือเจ็บปวดที่ข้อมือ นิ้ว แขน คอ หรือไหล่ สาเหตุหลักของอาการปวดที่ว่านั้น มักจะเกิดจากอิริยาบถที่ผิดสุขลักษณะ หรือการเคลื่อนไหวต่อเนื่องซ้ำๆ เป็นเวลานานๆ อย่างเช่น การกดแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ ท่านั่งทำงานที่ผิดหลัก อาการเริ่มต้นตั้งแต่ อ่อนล้า ชา ปวดบริเวณกล้ามเนื้อที่ใช้งาน ซึ่งช่วงแรกจะหายได้เมื่อหยุดทำกิจกรรมนั้น แต่ในเวลาต่อมาหากยังไม่ได้รักษาอย่างถูกต้อง อาการก็อาจเป็นมากขึ้น เพียงแค่พักผ่อนอย่างเดียวก็ไม่หายแล้วคราวนี้ ต้องทำการรักษาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เช่น โปะด้วยถุงน้ำแข็ง ทำกายภาพบำบัด หรือรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการที่เป็น ทั้งที่จริงๆ แล้วการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้ออย่างนี้ป้องกันได้ไม่ยากเลย เพียงฝึกนั่ง ยืน ให้ถูกท่า หากนั่งนานๆ ก็ลุกขึ้นมาเปลี่ยนอิริยาบถ เคลื่อนไหว เดินเล่นยืดเส้นยืดสายเสียบ้างทุกๆ ชั่วโมง และจัดพื้นที่ทำงานใหม่ให้เอื้อมหยิบสิ่งของต่างๆ ง่ายขึ้น ลดการยืดเกร็งกล้ามเนื้อของเราให้น้อยที่สุด นอกจากการยืดเส้นยืดสายแล้ว การดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยหนึ่งแก้ว ทุกๆ 1-2 ชั่วโมงก็จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับร่างกาย ลดความอ่อนล้า ทำให้คุณทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น
พักสายตากันบ้าง.....คงไม่ต้องบอกว่าดวงตาสำคัญต่อเราอย่างไรนะคะ ปัจจุบันมีคนมีปัญหาด้านสายตาจากการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นมาก ส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่สายตาต้องต่อสู้กับแสงจากหน้าจอเป็นเวลานานโดยไม่ได้พัก ผสานกับอากาศที่มีความชื้นต่ำจากเครื่องปรับอากาศในสำนักงาน ทำให้เกิดอาการเช่น ตาแห้ง แสบตา มองเห็นเป็นภาพเบลอ ตาพร่า หรือปวดหัวได้

คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านตาแนะนำว่า คนที่ทำงานในสำนักงานควรได้รับการตรวจดวงตา และทดสอบสายตาอย่างน้อยปีละครั้ง โดยเฉพาะคนที่มีอาการตาพร่าบ่อยๆ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับการหักเหของแสงของสายตา สำหรับคนที่ต้องใช้สายตาหน้าคอมพิวเตอร์นานเป็นพิเศษ เช่น นักเขียน นักออกแบบที่ใช้คอมพิวเตอร์ หรือโปรแกรมเมอร์ รวมถึงคนวัย 40 ขึ้นไปทั้งหลายที่สายตาอาจเริ่มเปลี่ยน ก็ควรเล่าให้คุณหมอฟังถึงกิจกรรมที่คุณทำ ระยะเวลาที่คุณใช้หน้าคอมพิวเตอร์ การจัดสถานที่ทำงาน เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการแก้ไข หรือป้องกันปัญหาเกี่ยวกับสายตา เพราะเดี๋ยวนี้มีแว่นที่มีเลนส์เฉพาะสำหรับคนที่ใช้คอมพิวเตอร์ให้ใช้กันแล้ว แว่นตาชนิดเลนส์มัลติโค้ทก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดแสงสะท้อน และรังสี UV ที่เข้าตา
สำหรับสำนักงานที่ใช้เครื่องปรับอากาศ อากาศค่อนข้างแห้ง ก็ควรหาถ้วยใส่น้ำวางไว้บริเวณหน้าต่าง ให้น้ำระเหยเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ก็จะช่วยลดอาการตาแห้งได้
ห้องปรับอากาศ สะสมโรคหรือเปล่า...อากาศร้อนๆ อย่างเมืองไทย เครื่องปรับอากาศจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบ้านและอาคารสำนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตึกสูงล้วนแต่ใช้เครื่องปรับอากาศเป็นตัวช่วยหมุนเวียนอากาศแบบรีไซเคิล และส่วนใหญ่มักจะสงวนพลังงานไม่ให้รั่วไหลออกไปภายนอกด้วยการปิดประตูหน้าต่างแน่นหนา ถ้าหากเจ้าระบบกลไกหรือแผ่นกรองของเครื่องปรับอากาศมันเกิดทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ไหนจะควันรถจากถนน ฝุ่นละอองในอากาศ ไปจนถึงสารพิษ ไอระเหยของหมึกจากเครื่องพิมพ์ หรือเครื่องถ่ายเอกสาร อากาศที่คนจำนวนมากๆ หายใจร่วมกัน จะมีผลต่อคนที่อยู่ในอาคารอย่างไร ทั้งหมดนี้รวมกันแล้วล้วนเป็นสาเหตุของ “กลุ่มอาการป่วยจากอาคาร” (Sick building syndrome - SBS) ได้ทั้งสิ้น

กลุ่มอาการชื่อแปลกนี้ เป็นที่รับรู้ขององค์การอนามัยโลกมาตั้งแต่ปี 2525 แต่แม้เวลาจะผ่านมากว่า 20 ปีแล้วคนก็ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่คนนับล้านๆ คนทั่วโลกต้องผจญกับอาการเหล่านี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน โดยมีอาการเช่น ความรู้สึกเหนื่อยล้า ปวดหัว มึนงง คัดจมูก เป็นภูมิแพ้ ความสนใจต่อสิ่งต่างๆ ลดลง และมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ ทีมงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ (NUS) ร่วมกับ กระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่คนใช้ชีวิตอยู่บนอาคารสูงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก พบว่าชาวสิงคโปร์ อย่างน้อย 1 ใน 5 ต้องผจญกับกลุ่มอาการ SBS นี้ ทีมวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่าไม่เพียงเรื่องคุณภาพอากาศภายในอาคารเท่านั้น แต่ความเครียดจากงาน แสงสว่างที่มากหรือน้อยไปในอาคาร การควบคุมอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม ล้วนแต่เป็นชนวนให้เกิดกลุ่มอาการดังกล่าวได้ทั้งสิ้น

มีทีมศึกษาจาก รพ.เบอร์มิงแฮม ฮาร์ทแลนด์ ในประเทศอังกฤษ กล่าวไว้ว่า ความซับซ้อนของอาการป่วยเดียวกันนี้ และสรุปเพิ่มเติมว่า กลุ่มอาการปวดหัว วิงเวียน แบบ SBS ที่ว่านี้มักเกิดมากในผู้หญิง โดยเฉพาะพวกที่ทำงานในตำแหน่งระดับล่างๆ มีเจ้านายสั่งงานหลายชั้น และพวกที่พกพาความเครียดตลอดการทำงานทั้งวัน จะยิ่งเป็นกันมาก แม้จะยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดแต่ก็พอเข้าใจได้ว่า สาเหตุทั้งด้านกายภาพ ชีวภาพ และจิตวิทยา รวมๆ แล้วเป็นที่มาของกลุ่มอาการ SBS วิธีป้องกันและแก้ไขที่ดีที่สุดก็คงจะต้องเพิ่มความใส่ใจกับคุณภาพอากาศ คุณภาพเครื่องปรับอากาศ การรักษาอุณหภูมิในสำนักงาน และรักษาบรรยากาศการทำงานให้มีเสียงหัวเราะกันมากขึ้น

ความเครียดจากงานจริงหรือ ...เรื่องของความเครียดนั้นเป็นเรื่องที่คนทำงานทุกคนมักหนีไม่พ้น ไม่ว่าจะงานหนัก งานโหลด รู้สึกว่าถูกกดดัน ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่มีเพื่อน ไม่ได้ใช้ความสามารถเต็มที่ ควบคุมงานไม่ได้ ความสามารถไม่ตรงกับงานที่ทำ การไม่มีเวลาให้กับงานที่รับผิดชอบเต็มที่เพราะอาจทำหลายอย่างพร้อมกัน เบื่อเพื่อนร่วมงาน เงินเดือนต่ำ งานซ้ำซาก ฯลฯ ต่างเป็นชนวนความเครียดหลักๆ ยังไม่นับปัญหารถติดที่สร้างความเครียดให้กับหลายคนก่อนถึงที่ทำงานด้วยซ้ำ คนที่ไม่รู้จักหาวิธีผ่อนคลาย ปล่อยตัวเองจมอยู่กับความเครียดมากๆ นั้นจะส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ ทั้งปวดหัว เหนื่อยอ่อน นอนไม่หลับ ไปจนถึงเป็นไข้ ไอ รวมทั้งปวดเมื่อยตามร่างกาย เช่น คอ และหลัง ยิ่งใครที่สะสมความเครียดไว้นานๆ ก็ส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว นำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บมากมายตามมาได้ด้วย อย่างเช่น โรคหัวใจ หลอดเลือด ความดันเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต ล้วนแต่ทำให้อายุสั้นแทบทั้งสิ้น

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว...
มีวิธีอะไรบ้างที่จะป้องกัน ... ทางป้องกันก็คือ พาตัวเองให้พ้นจากความเครียด ด้วยการหาทางผ่อนคลายวิธีต่างๆ การพักผ่อนที่เพียงพอ ทบทวนตัวเองว่าบกพร่องหรือมีจุดควรปรับปรุงหรือไม่ตรงไหน แล้วจัดระบบการทำงานใหม่ และแบ่งเวลาให้เป็น กินอาหารที่มีประโยชน์ อยู่ในที่ที่อากาศปลอดโปร่งถ่ายเทดี มีความชุ่มชื้นพอสมควร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ต่างเป็นอาวุธสำคัญที่ทำให้เราสามารถป้องกันโรคภัยไข้เจ็บจากการทำงานได้

ก่อนจากกันเรามีข้อแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงอาการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อจากท่านั่งทำงานที่ผิดๆ มาฝากกันทิ้งท้าย ชวนเพื่อนๆ ลองสำรวจตัวเองแล้วปรับเปลี่ยนท่าทางหรือสภาพแวดล้อมเพื่อสุขลักษณะที่ดีกว่าเดิมกันดีกว่า
1. เก้าอี้นั่งควรอยู่ในระดับพอดี ที่คุณสามารถนั่งแล้ววางเท้าราบกับพื้น โดยให้หัวเข่าตั้งฉาก 90 องศา หากใครที่เท้าไม่ถึงพื้น ก็ควรที่วางเท้ามารองรับใต้โต๊ะให้พอดี และเมื่อนั่งแล้ว ควรนั่งให้เต็มเบาะ และขอบหน้าของเบาะที่นั่งควรห่างจากหลังน่องประมาณ 2 นิ้ว
2. ระหว่างทำงานควรมีการหยุดพักเพื่อยืดเส้นยืดสายบ้าง เริ่มจาก กำมือ แล้วหมุนข้อมือเป็นวงกลมทวนเข็มนาฬิกา – ตามเข็มนาฬิกา อย่างละประมาณ 10 ครั้ง แล้วทำท่าพนมมือ ประสานมือเข้าด้วยกันบีบแน่นๆ ประมาณ 10 วินาที แล้วเปลี่ยนเป็นใช้หลังมือพนม ประสานมือพลิกให้ปลายนิ้วอยู่ด้านล่าง บีบแน่นๆ ประมาณ 10 วินาที จากนั้นกางนิ้วออกกว้างๆ แล้วบรรจบนิ้วแต่ละนิ้วเข้าด้วยกัน ซ้าย-ขวา
3. การถือโทรศัพท์ ควรใช้มือ หรือหากมือไม่ว่างก็ควรใช้สปีคเกอร์โฟน (ลำโพง) ให้เป็นประโยชน์แทน ไม่ควรใช้วิธีเอียงคอหนีบหูโทรศัพท์ไว้กับหัวไหล่เพราะมีโอกาสทำให้ข้อต่อบริเวณนั้นเกิดบาดเจ็บได้ง่าย
4. หยุดพักงานที่ทำเป็นระยะๆ เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ หรือเปลี่ยนไปทำงานที่ใช้กล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ แทนบ้าง
5. จัดโต๊ะทำงานใหม่ ให้หยิบฉวยอะไรที่ใช้บ่อยๆ ได้ง่ายๆ โดยไม่จำเป็นต้องเอื้อมหยิบ หรือยืดเกร็งกล้ามเนื้อเพื่อหยิบของระยะไกลๆ ปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับที่กลางจอภาพอยู่ในแนวตรงพอดีกับปลายคาง จะเป็นระดับที่พอเหมาะกับสายตา และทำให้คอของเราตั้งอยู่ในระดับตรงพอดีที่สุด
ขอขอบคุณ ที่มาของข้อมูล :นิตยสาร Health Today